หน่วยการเรียนรู้

วันจันทร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2559

ลักษณะของหน่วยการเรียนรู้ที่ดี

หน่วยการเรียนรู้ที่ดี และมีคุณค่าต่อการเรียนรู้ ควรมีลักษณะดังต่อไปนี้ ( นาตยาปิลันธนานนท์ . 2546 :51 – 52 และ รุ่นนภา นุตราวงศ์ 2547 : 7)
1. เป็นหน่วยการเรียนรู้ที่น่าสนใจ ท้าทายผู้เรียนให้อยากเรียนรู้เพื่อแสวงหาคำตอบ
2. เป็นหน่วยการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับชีวิตประจำวัน และสังคมของผู้เรียน ให้ความรู้สึกว่าหน่วยการเรียนรู้นั้นมีชีวิต สัมผัสได้ จับต้องกับสิ่งที่จะเรียนได้
3. เป็นหน่วยการเรียนรู้ที่เรียนแล้วสนุก มีกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย ไม่ใช่เรียนเนื้อหาที่เน้นแต่การท่องจำ เรียนแล้วสามารถนำความรู้จากหน่วยการเรียนรู้ไปใช้ได้ทันทีเรียนแล้วได้ทั้งความรู้และความสนุกสนานในเวลาเดียวกัน
4. เป็นหน่วยการเรียนรู้ที่มีความเหมาะสมกับวัย วุฒิภาวะ ความสนใจและความสามารถของผู้เรียน
5.  เป็นหน่วยการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการประเมินผลการเรียนรู้ ด้วยวิธีการประเมินที่หลากหลาย



ประโยชน์ของหน่วยการเรียนรู้

ฑนัท ธาตุทอง (2550 : 57) ได้กล่าวถึงประโยชน์ของหน่วยการเรียนรู้ไว้ 3 ประการคือ
1. เพื่อความสะดวก
2. ความเหมาะสมกับเวลา
3. เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบกับมาตรฐานที่กำหนดไว้

นอกจากนี้ ธำรง บัวศรี (2531 : 254) ก็กล่าวถึงประโยชน์ในการจัดทำหน่วยการเรียนรู้ไว้ 6 ประการดังนี้
1. ช่วยให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์จากการเรียนรู้ผสมผสานความกลมกลืนและมีความหมาย
2. ช่วยให้ผู้เรียนได้มีโอกาสทำกิจกรรมหลายอย่างซึ่งมีผลดีต่อการพัฒนาการของผู้เรียนเป็นอย่างมาก
3. ช่วยตอบสนองความแตกต่างและความต้องการของผู้เรียน เนื่องจากมีกิจกรรมหลายอย่างที่ผู้เรียน  สามารถทำได้
4. ช่วยให้ผู้เรียนมองเห็นภาพสิ่งที่เรียนเป็นส่วนร่วม เนื่องจากการนำเอาเนื้อหาวิชามาผสมผสานกัน
5. ช่วยให้ผู้เรียนเกิดความสนใจและกระตืนรืนร้นในการเรียน เพราะผู้เรียนได้ลงมือทำเองแก้ปัญหาเอง
6. เป็นการเรียนการสอน ที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง แทนที่ผู้สอนจะเป็นดังเช่นการเรียนการสอนบางรูปแบบ.



ประเภทของหน่วยการเรียนรู้

นาตยา ปิลันธนานนท์ (2546 : 60 – 61) ได้แบ่งประเภทของหน่วยการเรียนรู้ตามชื่อของหน่วยการเรียนนั้นๆ ว่าสื่อไปในทางใดซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 9 ประเภท ดังนี้
1.    หน่วยการเรียนรู้ที่เป็นประเด็น (thematic unit) เช่น หน่วยการเรียนรู้สิ่งแวดล้อม ระบบปฏิสัมพันธ์ ความหลากหลาย การเปลี่ยนแปลง เป็นต้น หน่วยการเรียนลักษณะนี้สื่อความหมายที่เป็นแนวความคิดรวบยอด (conceptual unit) ที่กว้างขวาง
2.    หน่วยการเรียนรู้ที่เป็นหัวข้อ (topic unit)  เช่น หน่วยการเรียนรู้เรื่องครอบครัว พืช ยา และสารพิษ เทนนิส แสงและเงา ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น หน่วยการเรียนรู้ลักษณะนี้จะสื่อให้ผู้สอนมุ่งให้นักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจเป็นหลัก
3.    หน่วยการเรียนรู้ที่เป็นปัญหา (problem unit) เช่น หน่วยการเรียนรู้เรื่องอาชญากรรม มลพิษ น้ำท่วม ขยะ สิทธิสตรี เป็นต้น บางครั้งก็นิยมตั้งชื่อหน่วยการเรียนรู้ในรูปของคำถาม เพื่อกระตุ้นให้เกิดการออกแบบการเรียนการสอนเพื่อมุ่งหาคำตอบจากหน่วยการเรียนรู้นี้ เช่น หน่วยการเรียนรู้เรื่อง น้ำอัดลมเป็นอย่างไร เห็นอะไรในช้อนกินข้าว มองได้ไกลแค่ไหน เป็นต้น
4.    หน่วยการเรียนรู้ที่เป็นประเด็นปัญหา ( issue unit) จะคล้ายกับหน่วยการเรียนรู้ที่เป็นปัญหาแต่ปัญหาที่เป็น issue มักจะเป็นปัญหาที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ในสังคม  ยังไม่สามารถหาข้อยุติส่วน problem มักเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน สั่งสมอยู่ในสังคมมานานจนเป็นรับรู้โดยทั่วไปการกำหนดหน่วยการเรียนรู้ที่เป็น issue unit หรือไม่จึงขึ้นอยู่กับสภาวการณ์ในสังคมขณะนั้นหน่วยการเรียนรู้แบบนี้จึงมีความทันสมัยทันเหตุการณ์
5.     หน่วยการเรียนรู้ที่เป็นค่านิยม คุณธรรม จริยธรรม (value unit หรือ moral unit) เช่น หน่วยการเรียนรู้เรื่อง ความรักชาติ การเสียสละ ความรับผิดชอบ การพึ่งพา เป็นต้น เป้าหมายของหน่วยการเรียนรู้ประเภทนี้จะมุ่งพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม ให้เกิดขึ้นในตัวนักเรียน
6.    หน่วยการเรียนรู้ที่เป็นเหตุการณ์เรื่องราววรรณกรรม ( story unit หรือ literature unit)  เช่น หน่วยการเรียนรู้เรื่องอาณาจักรสุโขทัย รัชกาลที่ 9 สุนทรภู่ พระอภัยมณี หนูน้อยหมวกแดง เป็นต้น เป้าหมายของหน่วยการเรียนรู้ประเภทนี้มุ่งนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ประวัติความเป็นมาให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจ และสะท้อนแง่คิด มุมมองต่างๆ จากเรื่องราวนั้นๆ
7.     หน่วยการเรียนรู้ที่เป็นอาชีพ (career unit) เช่น หน่วยการเรียนรู้เรื่องนักบิน หนังสือพิมพ์ ตำรวจ นักประดิษฐ์ นักกีฬา เป็นต้น หน่วยการเรียนรู้ลักษณะนี้มีเป้าหมายที่จะให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับความรู้ที่มีในอาชีพต่างๆ ลักษณะของอาชีพนั้นได้สำรวจอาชีพการเตรียมตัว ก้าวสู่อาชีพนั้นๆให้ประสบความสำเร็จ
8.    หน่วยการเรียนรู้ที่เป็นโครงงาน (project unit) เช่น กังหันลม ระบบนิเวศ ป่าชายเลน วางแผนลดพลังงาน การย้อมผ้า หน่วยการเรียนรู้แบบนี้จะชี้นำให้เป้าหมายการเรียนเน้นไปที่ให้นักเรียนคิดโครงงาน ทำโครงงาน สร้างชิ้นงานต่างๆ
        9.  หน่วยการเรียนรู้ที่เป็นทักษะ (skill unit) เช่น การเจรจาต่อรอง การจูงใจ การประนีประนอม ความขัดแย้ง               เป็นต้น หน่วยการเรียนรู้แบบนี้ให้ความรู้สึกที่จะต้องให้นักเรียนมีทักษะเหล่านี้เป็นหน่วยการเรียนรู้ที่มุ่ง                    พัฒนาทักษะให้แก่นักเรียน



ขั้นตอนการออกแบบหน่วยการเรียนรู้

  นพเก้า ณ พัทลุง (2550 : 87 อ้างอิง Apple . 2003) กล่าวถึง ขั้นตอนการออกแบบหน่วยการเรียนรู้ ดังนี้
 1.       กำหนดสิ่งที่ผู้เรียนควรรู้และสามารถทำได้เมื่อจบบทเรียน
 2.       กำหนดหลักฐานเพื่อประเมินความเข้าใจของผู้เรียน
 3.       กำหนดชิ้นงานสำหรับการเรียนการสอน
 4.       ตั้งชื่อหน่วยการเรียนรู้
 5.       เขียนแนะนำหน่วยการเรียนรู้ที่ตั้งขึ้น
 6.       กำหนดเวลาและสถานที่ปฏิบัติกิจกรรม
 7.       กำหนดวิธีที่ผู้เรียนและผู้สอนมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างปฏิบัติกิจกรรม
 8.       กำหนดสื่อ วัสดุ อุปกรณ์ และทรัพยากรที่ต้องใช้ในหน่วยการเรียนรู้
 9.       สรุปย่อรายละเอียดต่างๆในหน่วยการเรียนรู้
 10.   ทดลองใช้และปรับปรุง
ขั้นตอน 1 ถึง 3 เป็นขั้นตอนหลักสำคัญ ขั้นตอนที่ 4 ถึง 9 เป็นการกำหนดรายละเอียด และขั้นตอนที่ 10 เป็นการประเมินผล

สรุปได้ว่า การออกแบบหน่วยการเรียนรู้นั้นมีหลายรูปแบบโดยแต่ละรูปแบบนั้นต้องเป็นไปตามขั้นตอนที่ชัดเจน ซึ่งอาจกำหนดเพียงชื่อหน่วยและเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของหน่วยสำหรับรายละเอียดอื่นๆ กำหนดไว้ในการแผนการจัดการเรียนรู้ ได้แก่ กำหนดเป้าหมายหรือผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง กำหนดรูปแบบการเรียนการสอน ซึ่งประกอบด้วยเนื้อหากิจกรรมการเรียนการสอน สื่อ วัสดุ อุปกรณ์การเรียนการสอน และกำหนดการประเมินผล



องค์ประกอบของหน่วยการเรียนรู้


           ไตรรงค์ เจนการ ( 2547 :76-77) กล่าวถึงองค์ประกอบของหน่วยการเรียนรู้ ดังนี้
            1.       ประเด็นคำถามหรือหัวเรื่องของหน่วยการเรียนรู้ 
            2.       มาตรฐานการเรียนรู้
            3.       หลักฐานร่องรอยผลการเรียนรู้ที่เป็นชิ้นงาน ผลงาน ภาระงาน
            4.       เกณฑ์การประเมิน
            5.       แนวการให้คะแนน
            6.       ตัวอย่างผลงาน ชิ้นงาน

   นพเก้า ณ พัทลุง ( 2550 : 85 อ้างอิงจาก Henson .2001 ) กล่าวถึง องค์ประกอบของหน่วยการเรียนรู้ ดังนี้
1.       การกำหนดแนวคิด แสดงถึงความเชื่อของผู้สอนที่สะท้อนถึงเป้าหมายของโรงเรียนธรรมชาติของผู้เรียน วิธีการเรียนรู้ และเป้าหมายของชีวิต โดยตั้งคำถามเพื่อกำหนดแนวคิดในลักษณะ ‘’ ต้องเรียนเนื้อหานี้เพราะอะไรงง
2.       เป้าหมาย เป็นการกล่าวถึงความคาดหวังทั่วๆไป เช่น เป้าหมายของการเรียนเรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตยอาจตั้งว่า ‘’ผู้เรียนยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่นมากขึ้น’’ ‘’ ผู้เรียนมีความซาบซึ้งในระบอบประชาธิปไตย ‘’
3.       เนื้อหา ต้องมีความจำเป็นในการเรียนรู้เพื่อให้บรรลุตามจุดประสงค์ในการสอนแต่ละครั้ง เนื้อหาต้องมีความสำคัญต่อสังคม สอดคล้องกับความต้องการและความสนใจของผู้เรียน
4.       กิจกรรมที่ดีควรมีลักษณะเป็นกิจกรรมเดียวแต่สอดคล้องกับจุดประสงค์ของการพูด บุคลิกภาพ และความกล้าแสดงออก

5.       การประเมินต้องมีความหลากหลาย เช่น การทดสอบ การเขียน การสอบปากเปล่า การโต้วาที การทำโครงงาน การอภิปราย ฯลฯ ซึ่งเรียกว่าการประเมินผลงาน อีกประเภทหนึ่งคือ การประเมินกระบวนการ เป็นการบรรยายประสิทธิภาพจากการสอน หรือหน่วยการเรียนรู้ วิเคราะห์ ส่วนต่างๆ ของหน่วยการเรียนรู้ การมองความสัมพันธ์ภายในหน่วยการเรียนรู้ โดยคำถามที่ใช้เพื่อการประเมิน เช่น จุดประสงค์ของหน่วยการเรียนมีความสัมพันธ์ในหน่วยการเรียนรู้ โดยคำถามที่ใช้เพื่อการประเมิน เช่น จุดประสงค์ของหน่วยการเรียนมีความสำคัญหรือไม่ กิจกรรมต่างๆ ช่วยให้บรรรลุจุดประสงค์หรือไม่ การประเมินมีความยุติธรรมสำหรับทุกคนหรือไม่ ฯลฯ



ความสำคัญของหน่วยการเรียนรู้

หน่วยการเรียนรู้เป็นขั้นตอนที่สำคัญของการนำหลักสูตรสถานศึกษาเข้าสู่ชั้นเรียน การออกแบบหน่วยการเรียนรู้จะต้องเป็นหน่วยการเรียนรู้ที่อิงมาตรฐาน ในการออกแบบการเรียนรู้ ครูผู้สอนสามารถพิจารณาเลือกแบบได้หลายวิธี แต่ควรครอบคลุมขั้นตอนการออกแบบ 3 ขั้นตอนประกอบด้วย เป้าหมายการเรียนรู้ หลักฐานการเรียนรู้และกิจกรรมการเรียนรู้ สำหรับแนวคิดหนึ่งที่สามารถนำไปสู่แนวทางการออกแบบหน่วยการเรียนรู้คือ การออกแบบย้อนกลับ ( Backward Understanding) ซึงเป็นความรู้ความเข้าใจที่ฝังติดตัวผู้เรียนอันเกิดจากการเรียนรู้ตามหน่วยการเรียนรู้นั้นๆ ติดตัวผู้เรียนไปตลอดชีวิต

      หน่วยการเรียนรู้มีความสำคัญมากต่อการจัดการศึกษา เป็นกระบวนการที่สำคัญมากจากการนำหลักสูตรมาใช้ต้องผ่านกระบวนการสร้างหน่วยจึงอาจกล่าวว่า ตัวเชื่อมที่สำคัญในการนำหลักสูตรมาสู่การจัดการเรียนการสอน คือ หน่วยการเรียนรู้แต่การจัดหน่วยการเรียนรู้นั้นต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่าง แต่ที่สำคัญที่สุดในการจัดทำหน่วยคือครูผู้สอนและตัวผู้เรียน ที่จะดำเนินการให้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้



ความหมายของหน่วยการเรียนรู้



       
การจัดการเรียนรู้เป็นองค์ประกอบหลักที่แสดงถึงการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย ความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายที่แท้จริงของการเรียนรู้บทบาทของครู และบทบาทของผู้เรียน
กรมวิชาการ ( 2544:10) กล่าวว่า หน่วยการเรียนรู้ประกอบด้วย ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง สาระการเรียนรู้ และจำนวนเวลา สำหรับการเรียนรู้ซึ่งเมื่อเรียนจบทุกหน่วยแล้วผู้เรียนสามารถบรรลุถึงผลการเรียนรู้ที่คาดหวังรายปี รายภาค ทุกรายวิชา

       เบญจมาศ อยู่เป็นแก้ว ( 2547  : 14 ) ให้ความหมายว่า หน่วยการเรียนรู้ หมายถึง จำนวนเนื้อหาของบทเรียนที่สามารถเรียนจบในตัว ซึ่งอาจจะมีมากกว่า 1 บทเรียน และมีแบบฝึกหัด แบบทดสอบประกอบการเรียน

       กรมวิชาการ ( 2548 : 15 – 17) ให้ความหมายว่า หน่วยการเรียนรู้ หมายถึง สาระการเรียนรู้ที่จัดเป็นชุดหรือเป็นหมู่หรือเป็นกลุ่ม ในลักษณะสัมพันธ์เชื่อมโยงหรือบูรณการเพื่อสะดวกในการจัดการเรียนรู้
       นพเก้า ณ พัทลุง ( 2548 : 15 – 17 ) ให้ความหมายว่า หน่วยการเรียนรู้ หมายถึง สาระการเรียนรู้ย่อยของรายวิชา ซึ่งส่วนใหญ่จะประกอบด้วย องค์ประกอบหลักเช่นเดียวกับหลักสูตรรายวิชา คือ ชื่อหน่วย จุดมุ่งหมายการเรียนรู้ เนื้อหาสาระ กิจกรรมการเรียนรู้ และการประเมินผลการเรียนรู้ และอาจรวมถึงทรัพยาบุคคล สื่อและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ

       หน่วยการเรียนรู้ คือ  การวางแผนและออกแบบไว้เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพตามเป้าหมาย นอกจากนี้ หน่วยการเรียนรู้ หมายถึง หน่วยการเรียนการสอนจะต้องประกอบด้วยเนื้อหาวิชาจำนวนหนึ่งที่ถูกคัดเลือกมาภายใต้หัวข้อหนึ่งและมีจุดประสงค์ร่วมกันอย่างหนึ่งจะต้องใช้กิจกรรมและประสบการณ์หลายอย่างในการที่จะให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ สิ่งสำคัญที่หน่วยการเรียนการสอนจะต้องมีนอกเหนือจากที่กล่าวมาคือ ผู้เรียนจะต้องมีปัญหาร่วมกันเนื้อหาและวิธีการจัดต้องมีความหมายต่อผู้เรียน และร่วมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง (ธำรง บัวศรี ,2531 : 253-254) อีกความหมายหนึ่งของหน่วยการเรียนรู้ คือ หน่วยการเรียนรู้ที่มีมาตรฐานการเรียนรู้ / ตัวชี้วัด เป็นเป้าหมายของหน่วยและองค์ประกอบภายในหน่วยการเรียนรู้ ได้แก มาตรฐานการเรียนรู้ / ตัวชี้วัด สาระสำคัญ สาระการเรียนรู้ ชิ้นงานหรือการงานที่กำหนดให้ผู้เรียนปฏิบัติ กิจกรรมการเรียนการสอนและเกณฑ์การประเมินครบทุกองค์ประกอบของหน่วยการเรียนรู้ จะต้องเชื่อมโยงมาตรฐานการเรียนรู้ / ตัวชี้วัด เป็นเป้าหมายของหน่วย (สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ พฤศจิกายน 2551 , 2551 :7 )

       หน่วยการเรียนรู้ เป็นหัวใจสำคัญของหลักสูตร จำเป็นต้องมีการออกแบบให้เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้ หน่วยการเรียนรู้จึงจำเป็นต้องมีความรู้ที่ครบวงจรในเรื่องหนึ่งที่เกิดจากการบูรณการสาระต่างๆของกลุ่มสาระการเรียนรู้หนึ่งๆแล้ว จัดเป็นเรื่องหรือหน่วยย่อย
หน่วยการเรียนรู้ เป็นขั้นตอนสำคัญที่สุดในการจัดทำหลักสูตร เพราะเป็นส่วนที่จะนำมาตรฐานไปสู่การปฏิบัติในการเรียนการสอนอย่างแท้จริง ทุกองค์ประกอบของหน่วยการเรียนรู้ต้องเชื่อมโยงกับมาตรฐานการเรียนรู้

    สรุปได้ว่า หน่วยการเรียนรู้ คือสาระการเรียนรู้ย่อยของรายวิชาที่สามารถนำมาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบเช่นเดียวกับหลักสูตร