หน่วยการเรียนรู้: ประเภทของหน่วยการเรียนรู้

วันจันทร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2559

ประเภทของหน่วยการเรียนรู้

นาตยา ปิลันธนานนท์ (2546 : 60 – 61) ได้แบ่งประเภทของหน่วยการเรียนรู้ตามชื่อของหน่วยการเรียนนั้นๆ ว่าสื่อไปในทางใดซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 9 ประเภท ดังนี้
1.    หน่วยการเรียนรู้ที่เป็นประเด็น (thematic unit) เช่น หน่วยการเรียนรู้สิ่งแวดล้อม ระบบปฏิสัมพันธ์ ความหลากหลาย การเปลี่ยนแปลง เป็นต้น หน่วยการเรียนลักษณะนี้สื่อความหมายที่เป็นแนวความคิดรวบยอด (conceptual unit) ที่กว้างขวาง
2.    หน่วยการเรียนรู้ที่เป็นหัวข้อ (topic unit)  เช่น หน่วยการเรียนรู้เรื่องครอบครัว พืช ยา และสารพิษ เทนนิส แสงและเงา ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น หน่วยการเรียนรู้ลักษณะนี้จะสื่อให้ผู้สอนมุ่งให้นักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจเป็นหลัก
3.    หน่วยการเรียนรู้ที่เป็นปัญหา (problem unit) เช่น หน่วยการเรียนรู้เรื่องอาชญากรรม มลพิษ น้ำท่วม ขยะ สิทธิสตรี เป็นต้น บางครั้งก็นิยมตั้งชื่อหน่วยการเรียนรู้ในรูปของคำถาม เพื่อกระตุ้นให้เกิดการออกแบบการเรียนการสอนเพื่อมุ่งหาคำตอบจากหน่วยการเรียนรู้นี้ เช่น หน่วยการเรียนรู้เรื่อง น้ำอัดลมเป็นอย่างไร เห็นอะไรในช้อนกินข้าว มองได้ไกลแค่ไหน เป็นต้น
4.    หน่วยการเรียนรู้ที่เป็นประเด็นปัญหา ( issue unit) จะคล้ายกับหน่วยการเรียนรู้ที่เป็นปัญหาแต่ปัญหาที่เป็น issue มักจะเป็นปัญหาที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ในสังคม  ยังไม่สามารถหาข้อยุติส่วน problem มักเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน สั่งสมอยู่ในสังคมมานานจนเป็นรับรู้โดยทั่วไปการกำหนดหน่วยการเรียนรู้ที่เป็น issue unit หรือไม่จึงขึ้นอยู่กับสภาวการณ์ในสังคมขณะนั้นหน่วยการเรียนรู้แบบนี้จึงมีความทันสมัยทันเหตุการณ์
5.     หน่วยการเรียนรู้ที่เป็นค่านิยม คุณธรรม จริยธรรม (value unit หรือ moral unit) เช่น หน่วยการเรียนรู้เรื่อง ความรักชาติ การเสียสละ ความรับผิดชอบ การพึ่งพา เป็นต้น เป้าหมายของหน่วยการเรียนรู้ประเภทนี้จะมุ่งพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม ให้เกิดขึ้นในตัวนักเรียน
6.    หน่วยการเรียนรู้ที่เป็นเหตุการณ์เรื่องราววรรณกรรม ( story unit หรือ literature unit)  เช่น หน่วยการเรียนรู้เรื่องอาณาจักรสุโขทัย รัชกาลที่ 9 สุนทรภู่ พระอภัยมณี หนูน้อยหมวกแดง เป็นต้น เป้าหมายของหน่วยการเรียนรู้ประเภทนี้มุ่งนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ประวัติความเป็นมาให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจ และสะท้อนแง่คิด มุมมองต่างๆ จากเรื่องราวนั้นๆ
7.     หน่วยการเรียนรู้ที่เป็นอาชีพ (career unit) เช่น หน่วยการเรียนรู้เรื่องนักบิน หนังสือพิมพ์ ตำรวจ นักประดิษฐ์ นักกีฬา เป็นต้น หน่วยการเรียนรู้ลักษณะนี้มีเป้าหมายที่จะให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับความรู้ที่มีในอาชีพต่างๆ ลักษณะของอาชีพนั้นได้สำรวจอาชีพการเตรียมตัว ก้าวสู่อาชีพนั้นๆให้ประสบความสำเร็จ
8.    หน่วยการเรียนรู้ที่เป็นโครงงาน (project unit) เช่น กังหันลม ระบบนิเวศ ป่าชายเลน วางแผนลดพลังงาน การย้อมผ้า หน่วยการเรียนรู้แบบนี้จะชี้นำให้เป้าหมายการเรียนเน้นไปที่ให้นักเรียนคิดโครงงาน ทำโครงงาน สร้างชิ้นงานต่างๆ
        9.  หน่วยการเรียนรู้ที่เป็นทักษะ (skill unit) เช่น การเจรจาต่อรอง การจูงใจ การประนีประนอม ความขัดแย้ง               เป็นต้น หน่วยการเรียนรู้แบบนี้ให้ความรู้สึกที่จะต้องให้นักเรียนมีทักษะเหล่านี้เป็นหน่วยการเรียนรู้ที่มุ่ง                    พัฒนาทักษะให้แก่นักเรียน



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น